วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เคมีน่ารู้ - Lifestraw : เครื่องกรองน้ำเพื่อน้ำท่วม

.
             บทความเคมีน่ารู้ วันนี้ขอนำเสนอเรื่อง "เครื่องกรองน้ำ" แบบช่วยชีวิต ซึ่งทาง SCG ได้มีการบริจาคเพื่อช่วยน้ำท่วม โดยเครื่องนี้มีราคาต่อเครื่องประมาณ 2,000 บาท กรองได้ชั่วโมงละ 10 ลิตร และใช้ได้ประมาณ 18,000 ลิตร (ถ้าหากน้ำขวดที่บริจาคไป ราคาขวดละ 7 บาท จะทุ่นงบประมาณได้เป็นแสน !!!)


             เครื่องกรองน้ำแบบช่วยชีวิต มีชื่อทางการค้าว่า LifeStraw (Straw แปลว่าหลอด) มีทั้งชนิดเป็นหลอด และขนาดใหญ่ที่ใช้ได้ในชุมชน ทำจากพลาสติกที่คงทน และมีน้ำหนักเบา ทำให้เคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก โดยการใช้งานก็ง่ายแสนง่าย เพียงแค่นำน้ำมา จากนั้นนำมากรองผ่านเครื่องนี้ น้ำก็จะกลายเป็นน้ำสะอาด ปราศจากเชื้อโรค สามารถดื่มได้


โดยกลไกการทำงานของ LifeStraw มีดังต่อไปนี้


1. เมื่อใส่น้ำเข้าไป น้ำจะผ่านตาข่ายซึ่งจะช่วยกำจัดตะกอนและสิ่งสกปรกในเบื้องต้น โดยเส้นผ่านศูนย์กลางของตาข่ายจะอยู่ที่ 100 ไมครอน


2. หลังจากผ่านตาข่าย น้ำจะลงมาที่ตัวกรองพอลิเอสเทอร์ ซึ่งจะกรองตะกอนที่เล็กได้ถึง 15 ไมครอน และยังดักจับแบคทีเรียได้ด้วย (โดย 15 ไมครอนนั้นเล็กเป็น 10 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของผม)


3. หลังจากผ่านตัวกรองพอลิเอสเทอร์ ก็จะลงมาที่เรซินที่เคลือบด้วยไอโอดีนอยู่ โดยไอโอดีนเป็นธาตุที่สามารถฆ่าปรสิต ไวรัส และแบคทีเรียได้ โดยเม็ดเรซินนั้นจะถูกวางอยู่ในส่วนที่สามารถทำให้เชื้อโรคนั้นเข้าสู่ไอโอดีนได้ดีที่สุด


4.จากนั้นน้ำก็จะผ่านมาที่ชั้นว่าง 


5. สุดท้าย น้ำก็จะลงมาที่ตัวกรอง Activated carbon (คาร์บอนกัมมันต์) เพื่อกำจัดรสของไอโอดีนที่อาจตกค้าง และดักจับเชื้อโรคที่เหลืออยู่ โดยข้อดีของคาร์บอนกัมมันต์คือถูกผลิตมาอย่างเป็นพิเศษ เพื่อทำให้มีรูพรุนมากขึ้น และดูดซับตัวเจือปนอื่นๆ ได้ดีขึ้น


         จะเห็นว่าข้อดีของ Lifestraw คือสามารถใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเลย และได้น้ำที่สามารถดื่มได้จากทุกแหล่ง ช่วยลดค่าขนส่งน้ำขวดเข้าสู่พื้นที่ 


          อย่างไรก็ตาม ผู้เรียบเรียงยังมีความกังวลอย่างหนึ่งว่า แม้ Lifestraw จะเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับการกรองน้ำในช่วงน้ำท่วมตอนนี้ แต่การกรองดังกล่าวเป็นการกรองพวกอนุภาคและเชื้อโรค ส่วนสารเคมี (เช่น พวกที่ใช้ตามบ้าน หรือ ในอุตสาหกรรมเล็กๆ) ไม่รู้ว่า Lifestraw จะช่วยได้ด้วยหรือเปล่า หากช่วยไม่ได้ จะมีวิธีการไหนหรือไม่ที่ทำให้คนในพื้นที่มีความปลอดภัยมากกว่านี้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่นเคมีจะต้องร่วมกันพัฒนาเพื่อให้เกิดความครอบคลุมอย่างสมบูรณ์แบบ'

ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายของการพัฒนาคงเป็นอะไรไม่ได้ นอกจากจะเป็นเพื่อ "ประชากร" ทุกคน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น